“โอ๊ย ร้อนตับจะแตก” เสียงบ่นของคนไทยที่ต้องประสบกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เริ่มมีหนาหูขึ้นทุกวัน

อุณหภูมิเมืองไทยทุกวันนี้ก็พุ่งสูงขึ้นจนทะลุ 40 องศาเซลเซียสแล้ว ในขณะที่คลื่นความร้อนจะมีอุณหภูมิสุงประมาณ 32.2 องศาเซลเซียส (90 องศาฟาเรนไฮต์) แสงแดดแผดจ้ามากกว่าปกติ ภัยแล้งก็ครอบคลุมหลายจังหวัดจนต้องมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งไปแล้วหลายสิบแห่ง ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น ถือว่าเป็นสิ่งบอกเหตุให้รู้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อน (Heatwave)

ปรากฏการณ์ยอดฮิตที่ไม่อาจปฏิเสธได้แผ่ปกคลุมหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศษ สเปน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และมีประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนที่พัดผ่าน บ้านเราก็เหมือนกับอีกหลายประเทศที่ต้องเจอภัยพิบัติจากคลื่นความร้อน (Heatwave)

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เคยเตือนให้โลกเตรียมรับมือกับสภาพอากาศวิปริตที่อันตรายและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นผลเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยสำนักข่าวเอพีระบุว่าผู้เชี่ยว ชาญเกรงว่า หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือแล้ว สภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วนั้นอาจจะทำลายบางท้องถิ่นและทำให้บางพื้นที่ไม่ สามารถอาศัยอยู่ได้

หลายคนอาจสงสัยว่าคลื่นความร้อนนั้น คืออะไร ทำไมทั่วโลกถึงได้มีความวิตกกังวลต่อเรื่องนี้ ?

ภาวะคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heatwave) คือ อากาศร้อนจัดที่สะสมอยู่พื้นที่บริเวณหนึ่งเป็นเวลานาน และเมื่อสะสมนานขึ้นอุณหภูมิก็จะสูงมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากเอลนีโญ่ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศสูงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกทำให้สภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงผิดปกติ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

แบบสะสมความร้อน เกิดในพื้นที่ซึ่งสะสมความร้อนเป็นเวลานาน อากาศแห้ง ลมนิ่ง ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เมื่ออุณหภูมิร้อนสะสมหลายวันจะเกิดคลื่นความร้อนมากขึ้น เช่น หากพื้นที่ไหนมีอุณหภูมิ 38-41 องศาเซลเซียส แล้วไม่มีลมพัดต่อเนื่อง 3-6 วัน ไอร้อนจะสะสมจนกลายเป็นคลื่นความร้อน
แบบพัดพาความร้อน ซึ่งคลื่นความร้อนชนิดนี้เกิดจากลมแรงหอบความร้อนจากทะเลทราย ขึ้นไปในเขตหนาว ซึ่งมักเกิดในยุโรป
จากสภาพอากาศที่ร้อนและมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยและพาความร้อนออกจากร่างกาย จึงมักเห็นคนเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกกันอยู่บ่อย ๆ ในฤดูร้อนนี้ และร่างกายร้อนอบอ้าวจนเกินไปส่งผลให้เมตาบอลิซึมในร่างกายล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

คลื่นความร้อนไม่เพียงส่งผลกระทบต่อมนุษย์เท่านั้น แต่สิ่งมีชีวิตแทบทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนได้รับผลกระทบเช่นกัน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง เราคงได้เห็นข่าวสารกันมาบ้างเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากคลื่นความร้อน มีพื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนมากทั้งพืชไร่ พืชสวน และนาข้าว ในส่วนของสัตว์ก็มีทั้งผลผลิตไม่เต็มที่ เกิดโรคระบาด และเจ็บป่วยล้มตาย

เจ้าของฟาร์มเป็ดที่จังหวัดอ่างทองบอกว่าปีนี้ขาดทุนอย่างหนัก เพราะเป็ดที่เลี้ยงไว้ไม่ยอมออกไข่และยังลดจำนวนไข่ลดลงวันละ 30 % ส่วนควายที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ทนทรหดที่สุดก็ยังทนร้อนไม่ไหว สัตวแพทย์ระบุว่า ควายร้อนจัดจนเกิดความดันสูงอวัยภายในและตับแตกเลือดทะลักออกมาทางก้น เหตุเกิดที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร นอกจากนี้ปางช้างหลายแห่งยังต้องเพิ่มรอบการอาบน้ำให้ช้างจากวันละ 3 รอบ เป็น 7 รอบ เพื่อลดอาการอ่อนเพลีย ผ่อนคลายความร้อนและความเครียดให้กับช้าง จะได้ไม่วิ่งมากระทืบคนจนกลายเป็นเรื่องบานปลาย

เพื่อลดความเสี่ยงโรคภัยจากคลื่นความร้อน เรามีวิธีป้องกันมาฝากกันค่ะ

ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับความร้อน
ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้านในวันที่ร้อนจัด และถ้าต้องอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนจัดควรดื่ม 4-6 แก้วต่อชั่วโมง
สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อบางเบา ระบายความร้อนได้ดี
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติดทุกชนิด
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันลดโลกร้อน ก่อนที่โรคจากความร้อนจะทำร้ายเรามากกว่านี้ค่ะ เห็นแล้วใช่หรือไม่ ว่าเรื่องคลื่นความร้อนนิ่งนอนใจไม่ได้จริง ๆ

“ โลกร้อนอย่านอนใจ เพราะเป็นภัยร้ายมหันต์ วันนี้ต้องช่วยกัน ร่วมฝ่าฟันวิกฤติภัย ”